เด็กไม่พูด พูดไม่เป็นประโยค เมื่อไหร่? ควรสงสัย “ลูกพัฒนาการล่าช้า”

ปัญหาเด็กพูดช้าหรือพูดไม่เป็นประโยค พูดภาษาการ์ตูน นับเป็นปัญหาที่ผู้ปกครองหลายท่านกังวล เพราะพบได้บ่อยในเด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียน และโดยส่วนมากผู้ปกครองก็ชอบนำลูกไปเปรียบเทียบกับลูกเพื่อน ญาติพี่น้อง แล้วเก็บมาสงสัยว่า ทำไมลูกเราพูดไม่ชัดเท่าเด็กคนอื่น เด็กคนอื่นพูดได้แล้ว ทำไมลูกไม่ยอมพูด
ก่อนที่จะสรุปว่า ลูกเราพูดช้า ไม่สมวัย มาลองเช็กลิสต์สัญญาณการพูดของเด็กแต่ละวัย ที่เรียกว่า “ผิดปกติ” พร้อมไขสาเหตุเด็กพูดช้า เด็กไม่พูด และเรียนรู้วิธีการกระตุ้นให้ลูกพูด ที่ผู้ปกครองสามารถทำได้ที่บ้าน ไปพร้อมกับบทความนี้เลยค่ะ
เด็กพูดได้ตอนกี่ขวบ?
ก่อนอื่นเลย พ่อแม่ควรทำความเข้าใจก่อนว่า เด็กแต่ละวัยมีพัฒนาการด้านภาษาและการพูดที่ต่างกัน
- เด็กจะเริ่มพูดคำที่มีความหมายได้ตั้งแต่ 1 คำขึ้นไป ตอนอายุ 1 ขวบ โดยจะออกเสียงคำง่ายๆเช่น หม่ำๆ
- เมื่อเข้า 2 ขวบ จะเริ่มพูด 2 คำติดกัน
- พูดเป็นประโยคยาวๆ ได้เมื่อเข้า 3-4 ขวบ
แต่หากพูดถึงเด็กเล็กอายุยังไม่ถึงขวบ ผู้ปกครองบางท่านอาจมองข้ามเรื่องการสื่อสารของเด็กไป ถึงแม้ว่าเด็กเล็กยังสื่อสารออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ แต่ก็เริ่มมีพัฒนาการด้านภาษาและการพูดอยู่เหมือนกัน โดยเด็กจะเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ได้ ดังนั้น ผู้ปกครองควรเริ่มสังเกตพัฒนาการด้านภาษาและการพูดของเด็กทุกวัยจะดีที่สุดค่ะ
ลูกพูดช้าสุดกี่ปี?
โดยทั่วไปแล้ว หากเด็กอายุ 2 ขวบยังไม่พูดคำที่มีความหมายได้เลย จะถือว่าเด็กกำลังมีปัญหาเรื่องการพูด ซึ่งคุณพ่อคุรแม่ควรเริ่มหาวิธีกระตุ้นให้ลูกพูด และพบผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุดค่ะ
แต่อย่างที่ได้กล่าวข้างไปข้างต้น พ่อแม่ควรเข้าใจพัฒนาการด้านการพูดของเด็กแต่วัยด้วย ก็จะช่วยลดความกังวลเรื่องลูกพูดช้าและช่วยให้สังเกตความผิดปกติของพัฒนาการด้านการพูดของลูกได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
คุณพ่อคุณแม่สามารถทำแบบประเมินพัฒนาการและแนวทางการส่งเสริมตามช่วงวัยของลูกได้ที่ลิ้งด้านล่าง ก็จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ทราบว่าพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของลูกน้อยสมวัยหรือไม่
สัญญาณเตือนเด็กพูดช้า…ผู้ปกครองควรเช็ก!
เมื่อลูกพูดช้า ลูกไม่ยอมพูด ไม่พูดหม่ำๆ หรือไม่เรียก พ่อ แม่ เป็นเรื่องที่หลายครอบครัวเกิดความวิตกกังวลและอาจสงงสัยว่า ลูกเราเข้าข่ายพัฒนาการล่าช้าหรือไม่?
เช็คลิสต์สัญญาณการพูดของเด็กแต่ละวัย ที่เรียกว่า “ผิดปกติ”
เด็กอายุ 6-10 เดือน :
- ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ ไม่หันตามเสียง
- ไม่ตอบโต้ต่อเสียงดัง ไม่หัวเราะ
เด็กอายุ 1 ปี :
เรียกชื่อผู้ปกครองไม่ได้ เช่น “พ่อ” “แม่” “ตา” “ยาย” ใช้ภาษาท่าทางเพื่อปฏิเสธไม่ได้
เด็กอายุ 1 ปี 3 เดือน :
- ไม่พูดคำที่มีความหมายเลย เช่น “หม่ำๆ”
- ไม่เข้าใจคำสั่งง่ายๆ เช่น “มานี่”
เด็กอายุ 1 ปี 6 เดือน :
- ไม่พูดคำที่มีความหมายอย่างน้อย 3 คำ
- ไม่เข้าใจภาษา ทำตามคำสั่งง่ายๆไม่ได้ หรือพูดไม่หยุด
- สื่อสารไม่รู้เรื่อง และไม่เป็นเรื่องเดียวกัน
เด็กอายุ 2 ปี:
- ไม่พูดคำที่มีความหมายต่างกัน 2 คำติดกัน
- พูดคำที่มีความหมายได้น้อยกว่า 50 คำ
- ชี้อวัยวะร่างกายตามคำสั่งไม่ได้
เด็กอายุ 3 ปี :
- พูดเป็นประโยคยังไม่ได้ หรือไม่สามารถพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้
- ไม่สามารถทำตามคำสั่ง 2 อย่างต่อเนื่องกันได้
สาเหตุของเด็กพูดช้า อาจแอบแฝงด้วยโรคอื่น !
หากพบว่าเด็กพูดช้า ผู้ปกครองควรสำรวจว่าเด็กพูดช้ามาจากสาเหตุใด เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยมีดังนี้
1.บกพร่องทางการได้ยิน
เด็กอาจมีปัญหา หูหนวก หูตึง ทำให้เด็กมีปัญหาการได้ยินลดลง หรือไม่ได้ยินสิ่งที่ผู้ปกครองพูด จึงส่งผลให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้ และเข้าใจภาษาจากการได้ยิน จึงใช้ภาษาท่าทางสื่อสารมากกว่าพูด ทำให้ผู้ปกครองคิดว่า เด็กไม่ยอมพูด เด็กพูดช้า
2.มีความผิดปกติด้านสติปัญญา
เด็กบางรายอาจมีความผิดปกติทางด้านสมอง ส่งผลให้มีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน และขาดทักษะการปรับตัว เช่น มีปัญหาด้านกล้ามเนื้อ ความจำ ทำอะไรเชื่องช้า และเด็กพูดช้ากว่าวัยเดียวกัน ซึ่งมักเป็นร่วมกับความผิดปกติอย่างอื่นด้วย และมักแสดงอาการออกมาก่อนอายุ 1 ปี 6 เดือน
3.โรคออทิสติก
ผู้ปกครองหลายท่าน เมื่อพบลูกพูดช้า ลูกไม่ยอมพูด มักสันนิษฐานว่า ลูกอาจเป็นออทิสติก ซึ่งก็ถือว่าอาจเป็นไปได้ค่ะ เพราะเด็กในกลุ่มออทิซึม จะมีพัฒนาการล่าช้า และมีปัญหาด้านการเข้าสังคม มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมที่แตกต่างจากเด็กทั่วไป เช่น มักชอบเล่น หรือทำอะไรซ้ำๆ ไม่เข้าสังคม ไม่เข้าใจคำสั่ง พูดไม่เป็นภาษา
4.พัฒนาการของเด็กด้านการพูดล่าช้า
เด็กบางรายอาจพบว่า มีพัฒนาการด้านภาษาสมวัยปกติ แต่พัฒนาการด้านการพูดล่าช้า หรือที่เรียกว่า เด็กปากหนัก ส่งผลให้เด็กมีปัญหาในการสื่อสาร เช่น เด็กไม่ยอมพูด เด็กพูดช้า บอกความต้องการโดยการใช้ท่าทางแทนการพูด ซึ่งมักจะมีปัญหาด้านการเรียนรู้ตามมาได้
5.ปล่อยให้เด็กดูจอบ่อยๆ
การเลี้ยงดูจากผู้ปกครอง โดยการปล่อยให้เด็กดูจอบ่อยๆ เช่น ดูทีวี เล่นมือถือ เล่นแท็บเล็ต ถือเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ลูกพูดช้า หรือพูดไม่ชัด ใช้ท่าทางมากกว่าพูด เนื่องจากเด็กไม่ได้ฝึกทักษะสื่อสารกับผู้อื่น ซึ่งเสียงที่อยู่ในจอเป็นการสื่อสารทางเดียว เด็กจึงไม่ได้รับการกระตุ้นให้สื่อสารกับผู้อื่น
วิธีกระตุ้นให้ลูกพูดเก่งขึ้น
แนวทางส่งเสริมพัฒนาการของเด็กด้านการพูด หรือวิธีกระตุ้นให้ลูกพูด ฉบับที่ผู้ปกครองทำได้เบื้องต้นที่บ้าน
- อ่านนิทานให้เด็กฟัง เพื่อเพิ่มคลังคำศัพท์ใหม่ๆ ผู้ปกครองควรใการถาม-ตอบเกี่ยวกับเรื่องราวในนิทาน เพื่อฝึกให้เด็กพูดโต้ตอบได้
- พูดคุยกับเด็กบ่อยๆ ด้วยคำพูดที่ใช้ในสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวัน และไม่ควรตัดบทเมื่อเด็กพยายามพูด แต่ควรตั้งใจฟังและมีปฏิกิริยากับเด็ก เพราะการพูดกับเด็กบ่อยๆ และตั้งใจฟัง เป็นการฝึกให้เด็กพูดมากขึ้น ฝึกให้เด็กพยายามออกเสียงมากขึ้น
- เรียกชื่อสิ่งของที่เด็กสนใจ หรือกำลังเล่นอยู่ เมื่อผู้ปกครองพบว่า เด็กกำลังเล่นกับของเล่น หรือจับสิ่งของที่สนใจอยู่ ควรแนะนำกับเด็กว่า แต่ละอย่างเรียกว่าอะไร สิ่งนี้คืออะไร โดยพูดช้าๆ ชัดๆ ให้เด็กฟัง จะช่วยให้เด็กรู้จักคำศัพท์ใหม่ๆ มากขึ้น
- หากเด็กต้องการสิ่งของบางอย่าง ผู้ปกครองอาจจะยังไม่ส่งของให้เด็ก หรือยังไม่ตอบสนองความต้องการของเด็ก แต่ใช้วิธีกระตุ้นให้ลูกพูดออกมาก่อน จึงตอบสนองความต้องการ
- พูดคุยกับเด็ก โดยใช้โทนเสียงสูง ต่ำ เพื่อให้เด็กสนใจมองปาก จะเป็นการกระตุ้นให้เด็กมองผู้พูดมากขึ้น และพยายามเลียนเสียงตาม
การเอาใจใส่พัฒนาการของเด็กด้านการใช้ภาษาและการพูดตั้งแต่เนิ่น ๆ เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม เนื่องจากพัฒนาการทางด้านภาษามีความเกี่ยวข้องกับภาวะความบกพร่องด้านอื่น ๆ และเกี่ยวข้องกับระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กในอนาคตต่อไป และหากเด็กไม่ได้รับการดูแล หรือรับการรักษาอย่างถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ อาจทำให้เด็กมีปัญหาสื่อสารกับผู้อื่นไม่ได้ บอกความต้องการไม่ได้ จนเกิดความเครียด มีปัญหาด้านสุขภาพจิตใจตามมา
ผู้ปกครองสามารถปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญของ Brainy Bean โดยตรง เพื่อขอคำแนะนำการส่งเสริมพัฒนาการด้านการพูดให้กับลูกน้อยได้ที่ Line ID : @healthsmilecenter หรือโทร 098-269-2368
อ้างอิงข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต สถาบันราชานุกูล